นายสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมอภิปรายเรื่อง การพัฒนาการอ่านของสถานศึกษาตามนโยบายแนวทางทศวรรษแห่งการอ่าน ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จัดขึ้น ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๓
รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การส่งเสริมให้คนไทยมีนิสัยรักการอ่านต้องเริ่มจากการสอนให้รู้หนังสือ ซึ่งมีทั้งรูปแบบการสอนในโรงเรียน และการสอนแบบการศึกษาตามอัธยาศัยที่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอนจากการสอนหนังสือให้เกิดการจดจำ เป็นการสอนโดยสร้างการเรียนรู้เพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างทันที นั่นคือหลักการเรียนรู้ที่เน้นเรียนรู้จากทักษะชีวิตและวิถีชีวิต คือการสอนโดยไม่ต้องบังคับให้เรียนรู้แต่เน้นการสอนแบบสอดแทรกวิถีชีวิตเข้าไป ให้ผู้เรียนเกิดความภูมิใจและรักที่จะเรียนรู้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น บรรณารักษ์ในห้องสมุดจะต้องมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้เกิดการอ่านในสถานศึกษา และนอกสถานศึกษา ซึ่งในสถานศึกษานั้น บรรณารักษ์จะต้องเป็นผู้ที่คอยเสริมทักษะทางด้านการอ่าน รวมทั้งทำหน้าที่เป็นทั้งครูผู้สอนและครูแนะแนว อีกทั้งต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการอ่านต่อนักเรียนอีกด้วย สำหรับห้องสมุดที่ไม่ได้อยู่ในสถานศึกษาหรือแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ควรจะมีการปรับเปลี่ยนห้องสมุดให้มีความน่าสนใจ เหมาะสมกับการเข้าไปอ่านหนังสือ โดยมีการปรับเปลี่ยนให้ห้องสมุดเป็นเสมือนห้องนั่งเล่นภายในบ้านที่ทุกคนต้องการเข้าไปใช้ โดยห้องสมุดควรเน้นองค์ประกอบที่สำคัญคือ บรรยากาศที่สดชื่น คนทำงานที่เป็นมิตร สถานที่มีความสะดวกสบาย หนังสือมีความหลากหลายและใหม่ มีเทคโนโลยีทันสมัยที่พร้อมจะรองรับผู้ที่เข้าไปใช้บริการในห้องสมุด ทั้งนี้ห้องสมุดไม่จำเป็นต้องยึดติดกับขนาดของพื้นที่หรือความหรูหรา แต่ควรคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ใช้บริการได้รับเป็นสำคัญ
ศาสตราจารย์พิเศษคุณหญิงแม้นมาส ชวลิต นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันคนสามารถเข้าถึงความรู้ได้หลายด้าน เช่น จากการอ่านหนังสือ หรือ จากอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นผลดีของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำให้คนสามารถเข้าถึงความรู้ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต นอกจากนั้นการอ่านยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้จริง และพัฒนาความรู้ให้กับตนเอง ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลได้ประกาศการอ่านให้เป็นวาระแห่งชาติ ส่งผลดีให้ผู้อ่านมีหนังสือดี ทันสมัย ให้เลือกอ่านได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านควรเริ่มตั้งแต่เด็กจนถึงประชาชนทั่วไป โดยสร้างโอกาสการเข้าถึงความรู้ได้อย่างเต็มที่
ที่มา..http://www.moe.go.th